Loading color scheme

รัฐมนตรีด้านธุรกิจขนาดย่อม นวัตกรรมและการค้า รัฐวิกตอเรีย เข้าเยี่ยมคารวะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

australia 18 8 2560

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 เวลา 11.00 น. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นายโศภณ นภาธร) ให้การต้อนรับนาย Philip Dalidakis รัฐมนตรีด้านธุรกิจขนาดย่อม นวัตกรรมและการค้า รัฐวิกตอเรีย พร้อมด้วยนายพอล โรบิลลียาร์ด เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทยและคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ ที่ห้องรับรอง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการศึกษา ดังนี้
•    การหารือความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา : รัฐมนตรีด้านธุรกิจขนาดย่อมฯ กล่าวว่า รัฐวิกตอเรียมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลกด้านการจัดการอาชีวศึกษา อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา เช่น การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง การส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านอาชีวศึกษา เพื่อให้ได้ผู้เรียนที่มีมาตรฐานและคุณสมบัติตรงกับความต้องการ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน โดยผู้เรียนอาชีวศึกษาจะได้ฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานจริง (on the job training) ทำให้ออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการจัดการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และด้านการค้า ในโอกาสเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ รัฐมนตรีด้านธุรกิจขนาดย่อมฯ จะเดินทางไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดล และมีกำหนดลงนามความตกลงระหว่าง Melbourne Polytechnic กับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งในการขยายความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษากับไทย และประสงค์จะขยายความร่วมมือให้มากขึ้น
    เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตรัฐวิกตอเรียเคยประสบปัญหาขาดแคลนผู้เรียนอาชีวศึกษาเช่นเดียวกับไทย เนื่องจากผู้ปกครองและนักเรียนมองว่าผู้เรียนอาชีวศึกษาเปรียบเสมือนพลเมืองชั้นสอง จึงนิยมศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากกว่า รัฐบาลจึงได้พยายามส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะมีทักษะพร้อมในการทำงาน และมีรายได้สูง สำหรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะช่วยให้นักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สะดวกในการเดินทางมาเรียนด้วยตัวเอง สามารถฟังการบรรยาย และทำการบ้านผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ “Podcast” ได้
    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ เพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล จึงได้มีการเตรียมการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) จึงเห็นว่าสามารถขยายความร่วมมือในการพัฒนาด้านอาชีวศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ โดยอาจจับคู่ระหว่าง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยกับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ที่ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญ    
•    ความร่วมมือระดับอุดมศึกษา : รัฐมนตรีด้านธุรกิจขนาดย่อมฯ กล่าวว่า ขณะนี้ มหาวิทยาลัย Monarsh ออสเตรเลีย ได้ร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล และพร้อมที่จะขยายความร่วมมือในด้านดังกล่าวกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับไทยในด้านการใช้ ICT เข้ามาช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพของประชาชน (health care) ซึ่งออสเตรเลียประสบปัญหาอยู่บ้างในการดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง จึงต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในเรื่องดังกล่าว เช่น การให้ผู้ป่วยสามารถให้แพทย์วินิจฉัยผลอัลตร้าซาวด์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบทันที (Real time) โดยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ด้วยตัวเอง นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย
    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ออสเตรเลียมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสนับสนุนการขยายความร่วมมือในด้านดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพของไทย และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพในภูมิภาคด้วย ในโอกาสนี้ ได้กล่าวแจ้งให้คณะจากรัฐวิกตอเรียทราบเกี่ยวกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ โดยคำสั่งดังกล่าวเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ สามารถเปิดสอนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
•    การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอื่นๆ : ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) ร่วมกับบริติช เคานซิล ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เพื่อพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของไทย จำนวนกว่า 40,000 คนทั่วประเทศ โดยจะจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค จำนวน 18 แห่ง ภายในปี 2561 และได้มีการออกแบบแอปพลิเคชันภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่สนใจฝึกภาษาอังกฤษผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเอง กระทรวงศึกษาธิการยังได้ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนโดยการดำเนินโครงการอาสาสมัครผู้ช่วยสอนภาษาจีนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือ สำนักงานฮั่นปั้น โดยนำนักศึกษาชาวจีนมาปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยสอนภาษาจีนที่โรงเรียนของไทย จำนวนประมาณ 1,500 คนต่อปี และการตั้งคณะทำงานจัดทำหลักสูตรภาษาจีน รวมถึงการออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ภาษาจีนผ่านระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน ในการนี้ รัฐมนตรีด้านธุรกิจขนาดย่อมฯ ได้เชิญผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปเยือนเมืองเมลเบิร์น ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน

australia1 18 8 2560

***********************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
16 สิงหาคม 2560