Loading color scheme

ความร่วมมือด้านการศึกษากับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

คณะฯติมอร์ เลสเต 21 7 2566

          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ได้เป็นผู้แทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ต้อนรับ Mr. Francisco Barreto เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (TLNCU) และคณะ ในโอกาสที่เดินทางมาเข้าพบเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับความร่วมมือในการประสานและอำนวยความสะดวกให้กับคณะผู้แทน TLNCU ในการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบกับประเทศไทย เรื่อง “การอนุรักษ์ภาษาถิ่นและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์” (Comparative Study on Indigenous Languages in Thailand) ร่วมกับมหาวิทยามหิดล ระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

คณะฯติมอร์ เลสเต 21 7 2566 horz

          โครงการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบ เรื่อง “การอนุรักษ์ภาษาถิ่นและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์” เป็นข้อริเริ่มของ TLNCU ที่มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ภาษาพื้นเมืองของติมอร์-เลสเต ที่กำลังจะสูญหายไปเนื่องจากอิทธิพลของภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทในติมอร์-เลสเต โดย TLNCU ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนที่พูดภาษาถิ่นซึ่งมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความหลากหลายด้านภาษา ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จึงเป็นโอกาสดีที่จะเรียนรู้และนำแนวปฏิบัติที่ดีของไทยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นของชนกลุ่มน้อยในติมอร์-เลสเตให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยการดำเนินโครงการครั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกได้รับความร่วมมือจากศูนย์ศึกษาและวิจัยภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินโครงการผ่านกิจกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย ด้านการอนุรักษ์ภาษาถิ่นและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และกิจกรรมการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยในอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในท้องถิ่นดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน (Mother tongue-based learning) ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการและแนวทางในการส่งเสริมให้เด็กพูดภาษาท้องถิ่น และการใช้ภาษาแม่เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คณะฯติมอร์ เลสเต4 21 7 2566

          ในโอกาสนี้ คณะผู้แทน TLNCU ได้มอบของที่ระลึกเพื่อเป็นการขอบคุณสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้โครงการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบดังกล่าวประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และหวังว่าจะได้พัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ต่อไปอีกในอนาคต

คณะฯติมอร์ เลสเต6 21 7 2566

สรุป/เรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 กรกฎาคม 2566