Loading color scheme

การประชุมเพื่อเสริมสร้างบทบาทด้านการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

T4P 2 4 2564

T4P2 2 4 2564

          สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ จัดการประชุม Together for Peace (T4P) Regional Dialogue on the Role of Education in Building Peaceful and Sustainable Future in Asia and the Pacific เมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2564 ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) คือจัดแบบการประชุมในสถานที่จริง (On site) ที่สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และจัดแบบการประชุมทางไกล (webinar) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทด้านการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ได้ให้เกียรติรับเชิญจากยูเนสโกกล่าวในพิธีเปิดการประชุมในรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุภัทร จำปาทอง) กล่าวในพิธีปิดการประชุมผ่านระบบออนไลน์

T4P3 2 4 2564

          ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวสนับสนุนยูเนสโกในการจัดเวทีการประชุมเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและความยั่งยืนและการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม รวมถึงจริยธรรมในโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีทักษะความรู้ความเข้าใจต่อผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และสามารถบริหารอารมณ์ตนเองได้ดี และได้กล่าวถึงประเด็นการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงการรับข้อมูลข่าวสาร เด็กควรได้รับการเรียนรู้เพื่อป้องการถูกรังแกในโซเชียลมีเดียและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับซึ่งส่งผลต่อการครอบงำทางความคิดโดยไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

T4P4 2 4 2564

          ในการประชุม ฯ มีการระดมความคิดเห็นของผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในหัวข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินการส่งเสริมเรื่องสันติภาพโดยใช้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน รวมทั้งการพิจารณาเอกสาร T4P Outcome Statement ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมด้วย ในโอกาสนี้ นางสาวสุปราณี คำยวง ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้รับเชิญเป็นผู้ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของการส่งเสริมสันติภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ นางสาวรัชนินท์ พงศ์อุดม ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นการใช้กลไกเครือข่ายที่มีอยู่ ได้แก่ เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ หรือ Associated Schools Project Network – ASPnet ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายแนวคิดทั้งเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Education – GCE) และและการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD) ไปยังชุมชนและสังคมในภาพรวม และประเด็นการผสานเรื่องจริยธรรมในกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ของยูเนสโกแบบบูรณาการข้ามสาขา

          ในพิธีปิดการประชุม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวแสดงความยินดีต่อยูเนสโกและขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมที่ช่วยกันเสริมสร้างสันติภาพผ่านกลไกด้านการศึกษา ถือเป็นส่งเสริมบทบาทของการศึกษาในการสร้างสังคมให้มีสันติภาพและความยั่งยืนในอนาคต สอดคลองกับการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการเสริมสร้างและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและภาคีเครือข่าย โดยกระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับยูเนสโกและประเทศสมาชิกเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการสร้างสันติภาพผ่านการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมต่อไป

สรุปและเรียบเรียง : ธัญชิต ผดุงศุภไลย
รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
ข้อมูล ณ วันที่ : 2 เมษายน 2564