Loading color scheme

ไทยร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์ยูเนสโกฉบับใหม่

211th session of the Executive Board 13 4 2564

          นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงในรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ ในช่วงพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 211 (211th session of the Executive Board) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 โดยได้กล่าวชื่นชมประธานกรรมการบริหารฯ (Mr. Agapito Mba Mokuy)  และผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Ms. Audrey Azoulay) ในการจัดการประชุมคณะกรรมการบริการฯ ได้อย่างราบรื่นแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม รวมถึงการเตรียมการเพื่อจัดทำร่างเอกสารยุทธศาสตร์ระยะกลาง (เอกสาร 41/C4) และร่างโครงการและงบประมาณ (เอกสาร 41/C5) ซึ่งได้รับความร่วมมือและการตอบรับจากประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกอย่างดียิ่ง

          ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ โครงการ และงบประมาณของยูเนสโกฉบับใหม่ซึ่งจะมีการนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบยูเนสโกอีก 8 ปีข้างหน้าว่า มีความเหมาะสมและสร้างความเชื่อมั่นบทบาทของยูเนสโกในการตอบสนองต่อปัญหาท้าทายของโลกพร้อมเน้นย้ำถึงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เอกสารทั้งสองฉบับให้ความสำคัญกับการดำเนินงานแบบข้ามสาขา (interdisciplinary approach) และการทำงานแบบหลอมรวม (Synergy) เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ มีความสอดคล้องและตอบสนองปัญหาท้าทายของโลกอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับวาระเรื่องการพัฒนาแอฟริกาและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กด้วย (Small Islands Developing States – SIDS)

          ในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อการศึกษานั้น  หลายประเทศได้ทบทวนระบบการศึกษาของตนและใช้โอกาสนี้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการเรียนในรูปแบบทางไกล เช่น การสร้าง digital platform และบูรณาการความรู้สาขาต่างๆ มากขึ้น ประเทศไทยส่งเสริมยุทธศาสตร์ของยูเนสโกในเรื่อง Technological Innovation in Education ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ 4 (การศึกษา) ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านคุณภาพ การมีส่วนร่วม ความเท่าเทียม และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในฐานะที่ยูเนสโกเป็นองค์การหลักของสหประชาชาติที่มีพันธกิจสำคัญในการบรรลุผลตามเป้าหมายที่ 4 วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงควรสนับสนุนเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD) และการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Education – GCE) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนจะต้องได้รับความรู้ ฝึกทักษะ มีค่านิยมและทัศนคติในแบบอย่างที่จะช่วยให้เกิดสันติภาพ ความอดทนอดกลั้น และความเท่าเทียมในสังคมตามเจตนารมณ์ของยูเนสโก

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้กล่าวสนับสนุนการดำเนินโครงการของยูเนสโกภายใต้โครงการ Management of Social Transformation Programme (MOST) ว่าเป็นโครงการที่มีแนวคิดสำคัญสอดคล้องกับการดำเนินงานแบบหลอมรวมระหว่างนักวิชาการหรือนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งการมองไปข้างหน้าและวางแผนสำหรับอนาคตนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจอย่างประสิทธิภาพ การตัดสินใจบางอย่างเกี่ยวเนื่องกับการมองอนาคต ภายใต้โครงการ MOST ยังมีแนวคิดเรื่อง Futures Literacy ซึ่งสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพของมนุษย์ในการคาดการณ์และเตรียมการเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมพร้อมและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางวิกฤตโลกในขณะนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและยูเนสโกเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้

          องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดการประชุม ระหว่างวันที่ 7 - 21 เมษายน 2564 ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom และ Webcast ของยูเนสโก  มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 เวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดย ประธานกรรมการบริหารฯ และผู้อำนวยการใหญ่ฯ กล่าวต้อนรับ สรุปเหตุการณ์ รายงานโครงการ/กิจกรรม และมติที่สำคัญจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงวาระที่จะพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ จากนั้นเป็นการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศสมาชิกคณะกรรมการบริหารฯ (National Statement) ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

          ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ช่วงที่เหลือจะมีการพิจารณาวาระสำคัญภายใต้คณะกรรมการชุดต่างๆ  ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ (Committee of Conventions and Recommendations – CR) คณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ (Programme and External Relations Commission – PX) และคณะกรรมาธิการว่าด้วยงบประมาณและการบริหาร (Financial and Administrative Commission – FA)

          อนึ่ง คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก จำนวน 58 ประเทศที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงการประชุมสมัยสามัญ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งกรรมการจำนวนครึ่งหนึ่งทุก 2 ปี มีวาระคราวละ 4 ปี ทำหน้าที่พิจารณาและติดตามการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการของยูเนสโกให้สอดคล้องกับมติการประชุมสมัยสามัญ  แผนยุทธศาสตร์ โครงการ/กิจกรรม และการปฏิบัติงานขององค์การยูเนสโกในภาพรวม รวมทั้งเรื่องงบประมาณ ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารฯ ในช่วงการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 วาระระหว่างปี 2562 - 2566

สรุปและเรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
ข้อมูล ณ วันที่ : 13 เมษายน 2564