Loading color scheme

พิธีเปิดการประชุม SEAMEO Congress 2021

SEAMEO Congress 28 4 2564

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นเกียรติกล่าวต้อนรับ ในพิธีเปิดการประชุม SEAMEO Congress 2021 หัวข้อ“Transforming Southeast Asian Education, Science and Culture in the Digital Age” และกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเปิดตัวศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอแห่งใหม่ในไทยอย่างเป็นทางการ จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ และศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น.

SEAMEO Congress1 28 4 2564

          ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม และกล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อีกทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความท้าทายของโลกในยุค VUCA (Volatility – ความผันผวนสูง, Uncertainty – ความไม่แน่นอนสูง, Complexity – ความซับซ้อน รวมถึง Ambiguity – ความคลุมเครือ) ที่มีการผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 ที่ก่อให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้แทนการทำงานของมนุษย์ ทั้งนี้ ท่ามกลางสังคมที่มีความซับซ้อน การศึกษาสามารถทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น และยังสามารถพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมได้ ดังนั้น เราจะเปลี่ยนแปลงความท้าทายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเด็กรุ่นใหม่เจเนอเรชั่นอัลฟ่าจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และเป็นพลเมืองที่ดีของโลก

 
      

Welcome Message by Her Excellency
Ms. Treenuch Thienthong the Minister of Education of Thailand
at the Opening Ceremony of the 2021 (Virtual) SEAMEO Congress on April 28, 2021

   

Remarks by Her Excellency Ms. Treenuch Thienthong the Minister of Education of Thailand
at the Virtual Launching Ceremony of SEAMEO SEPS and SEAMEO STEM-ED

During The Opening Ceremony of the 2021 (Virtual) SEAMEO Congress on April 28, 2021

ที่มา: สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ)

          นอกจากนี้ เพื่อให้โลกดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานและมีความยั่งยืน เราต้องร่วมมือกันในการสำรวจทิศทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการศึกษา และเป็นอุปสรรคต่อนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาแสวงหาแนวทางที่จะส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสร้างความตระหนักรู้เพื่อนำไปสู่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ในท้ายสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ หุ้นส่วนความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายและขับเคลื่อนการพัฒนา ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของภูมิภาคในช่วงการหยุดชะงักและการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลได้ โดยใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนสร้างแรงงานที่มีความสามารถสอดคล้องกับความท้าทายในอนาคตและตอบสนองความต้องการของสังคม

SEAMEO Congress2 28 4 2564

          สำหรับการเปิดตัวศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอแห่งใหม่ในไทยอย่างเป็นทางการ จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) และศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมให้ทั้ง 2 ศูนย์ดังกล่าวมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนผลักดัน การดำเนินงานด้านการศึกษาให้สอดรับกับความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21

           สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และกระทรวงศึกษาธิการไทย จัดการประชุม SEAMEO Congress 2021 รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ และหุ้นส่วน ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในการจัดการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 28 – 29 เมษายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้มีบทบาทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานด้านการพัฒนา และภาคอุตสาหกรรมจากประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ท่ามกลางความท้าทายในยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้และเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประมาณ 9,500 คน

สรุป/เรียบเรียง - กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
28 เมษายน 2564