Loading color scheme

ไทย - แคนาดา กระชับความสัมพันธ์และร่วมกันสานต่อความร่วมมือทางการศึกษา

ไทย แคนาดา 23 2 2567

          พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ นางสาวปิง คิตนีกอน (H.E. Ms. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งแคนาดาประจำประเทศไทย, Mr. Sanjeev Chowdhury อัครราชทูตที่ปรึกษาและฝ่ายพาณิชย์, Mr. Christophe-Alfred Rouleau-Dick เลขานุการโทและรองกงสุล พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์จากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและแคนาดา โดยมีนางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเยี่ยมคารวะ

ไทย แคนาดา1 23 2 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับ นางสาวปิง คิตนีกอน และแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งแคนาดาประจำประเทศไทย เมื่อเดือน ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกล่าวถึงนโยบายหลักของการขับเคลื่อนกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกับผู้เรียน ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เมื่อการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไปทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น การทำให้ผู้เรียนดีและมีความสุขได้นั้น การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาและลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นนโยบายอันจะนำไปสู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

ไทย แคนาดา3 23 2 2567

          พร้อมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้กล่าวถึง นโยบายหลักที่กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งดำเนินการลดภาระนักเรียน คือ การให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” ส่งเสริมและสนับสนุนระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและจัดการศึกษา ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ มีความสอดคล้องกับ โครงการ Brain Cloud ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย โดยภาคเอกชนของแคนาดา บริษัท เบรนคลาวด์ ได้ออกแบบสื่อการเรียนการสอนและเนื้อหาที่เหมาะสมเพื่อบรรจุลงในแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการมีผลการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษสูงขึ้น และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ปกครองของนักเรียน


ไทย แคนาดา2 23 2 2567

          นางสาวปิง คิตนีกอน ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมชื่นชมและสนับสนุนนโยบาย เรียนดี มีความสุข และการส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสอดคล้องกันกับนโยบายของรัฐบาลแคนาดาที่มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพบุคคลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Development) และทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการไทยได้นำ ระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ รัฐบาลแคนาดาให้ความสำคัญในความร่วมมือด้านการศึกษากับกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประชาคมอาเซียน ซึ่งปรากฏในรูปแบบของนโยบาย Canada’s Indo-Pacific Strategy โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ The Canada – ASEAN Scholarships and Educational Exchanges for Development - SEED Scholarship ที่รัฐบาลแคนาดาประกาศมอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยระยะสั้น (ระยะเวลา 4-8 เดือน) ในระดับปริญญาตรี โท และเอก สำหรับนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยจากภูมิภาคอาเซียน เป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินโครงการเป็นปีที่ 7 แล้ว ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมากเป็นลำดับต้นของอาเซียน จึงหวังว่าจะมีนักศึกษาไทยได้รับทุนนี้เพิ่มมากขึ้น

ไทย แคนาดา4 23 2 2567

          นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตแคนาดาฯ ได้กล่าวถึงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศ การค้าและการพัฒนาแห่งแคนาดา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาภาษาต่างประเทศและอาชีวศึกษาในประเทศไทย และการจัดหาครูชาวแคนาดาเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาของไทย ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ ได้ริเริ่มจัดทำร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่ยังไม่มีการลงนาม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายแคนาดามีความยินดีที่จะสนับสนุนและผลักดันให้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แสดงความยินดีที่ทั้งสองประเทศได้เคยมีการหารือร่วมกันเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ และมีความเห็นว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเวลาและสภาพแวดล้อมภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน และบุคลากรด้านการศึกษา จึงเห็นว่าควรมีการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและแคนาดาเพื่อทบทวนเนื้อหาและประเด็นต่างๆ ในบันทึกความเข้าใจฯ และอาจเพิ่มเติมประเด็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” ซึ่งเอกอัครราชทูตแคนาดาฯ มีความยินดีที่จะสานต่อความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการไทยต่อไป

ข้อมูล : พิชญสุดา พลเสน
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 กุมภาพันธ์ 2567