Loading color scheme

การประชุม ASEAN-Australia Counter-Terrorism, Workshop on Good Practice Approaches to Countering Violent Extremism, Hate Speech, and Disinformation Online

ASEAN Australia 5 2 2567

          นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนประธานที่ประชุมอาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ปี 2567 (Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) เข้าร่วมการประชุม ASEAN-Australia Counter-Terrorism, Workshop on Good Practice Approaches to Countering Violent Extremism, Hate Speech, and Disinformation Online ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2567 ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ติมอร์-เลสเต และ ออสเตรเลีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ นักวิชาการ มูลนิธิอาเซียน รวมถึงภาคเอกชน

          การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีให้ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานมีส่วนเกี่ยวข้องการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งและความรุนแรง (Countering Violent Extremism) การใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) และข้อมูลลวงบนช่องทางออนไลน์ (Disinformation Online) ร่วมหารือและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี สร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย

ASEAN Australia1 5 2 2567

ASEAN Australia2 5 2 2567

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในการต่อต้านการใช้ความรุนแรง การป้องกันและดูแลช่วยเหลือที่ได้รับผลกระทบจากการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังและการให้ข่าวบิดเบือน โดยสรุปดังต่อไปนี้

ASEAN Australia3 5 2 2567

          • กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย (MOE Safety Center) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมดูแล ติดตามพฤติกรรมผู้เรียน จากภาวะความเครียด ความกดดัน เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนรอบด้าน มีการติดตามความคืบหน้า มีการรายงานการแก้ไขปัญหาแบบ Real-time ที่สำคัญได้เก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษาและด้านความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่
          • การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียน ในการรับมือกับภัยไซเบอร์ เช่น Call Center, Cyber Bullying และ Hate Speech เป็นต้น มีการพัฒนาหลักสูตรเรื่อง Cyber Security มีลักษณะเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบออนไลน์ และการบูรณาการในรูปแบบกิจกรรม เช่น Coding, STEAM, STEM, Digital Literacy และสนับสนุนการแข่งขัน Cyber Security มีเป้าหมายเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและประสบการณ์ ให้กลายเป็นเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
          • โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย พัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านสาธารณสุข สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย รวมทั้งปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเด็กไทยมีภาวะเครียด ซึมเศร้าในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการฟื้นฟูสภาพจิตใจนักเรียน ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงได้
          • การส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อมุ่งหวังการสร้างพื้นฐานการเป็นพลเมืองที่ดี มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตสำนึกที่ดี และส่งเสริมให้บุคลากรทางการลูกเสือมีความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการของโครงการจิตอาสาพระราชทาน ส่งเสริมให้ลูกเสือ มีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น ตามกฎและคำปฏิญาณ ตลอดจนนำประสบการณ์และความรู้ไปบูรณาการให้เยาวชนรู้ถึงหน้าที่พลเมือง เป็นคนดีที่สังคมและชาติต้องการ ความร่วมมือร่วมใจที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมลูกเสือจะเป็นการป้องกันปัญหาความประพฤตินักเรียนนักศึกษาได้อีกทางหนึ่ง
          • โครงการครูแดร์ หรือ (Drug Abuse Resistance Education: D.A.R.E.) เป็นโครงการความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างตำรวจ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่เด็กนักเรียน รวมถึงภัยคุกคามในปัจจุบัน อาทิ การรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง และวิธีการเอาตัวรอดในเหตุกราดยิง
          • ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it Center ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ส่งเสริมนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาได้แสดงฝีมือ และความสามารถทางสายอาชีพ รวมถึงเป็นการฝึกฝนเพื่อสะสมประสบการณ์ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดความเชี่ยวชาญแล้ว ยังเป็นกิจกรรมจิตอาสาและสร้างความสามัคคีไปพร้อมกัน
          • โครงการ Young OVEC Creator ให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาตระหนักและเรียนรู้ในการสร้างสื่อสร้างสรรค์และมีประโยชน์ ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งจะนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานดีๆ สู่สาธารณชน
          • โครงการและกิจกรรมหลากหลายของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านอาชีพ และเทคโนโลยีให้กับประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย
          • การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและการระมัดระวังข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือน
          • โครงการและกิจกรรมอื่นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาครูและนักเรียน

ASEAN Australia4 5 2 2567

          นอกจากนี้ นายพิเชฐ ยังได้นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เน้นย้ำความสำคัญกับนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” รวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความครอบคลุมและแพร่หลายในการบริหารงานและการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยมีโครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และ โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อให้ครูเป็นผู้ส่งเสริมนักเรียนในการใช้สื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ตลอดจนการลดภาระของครูและนักเรียนเพื่อให้มีเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

          ทั้งนี้ รองปลัด ศธ.ยังได้เน้นย้ำถึงแนวทางการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับกระทรวงและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ประชาสังคมเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน สอดคล้องกับแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ในการพัฒนาการศึกษาของชาติ

          การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีการนำเสนอแนวทางในการต่อต้านความรุนแรง การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังและการให้ข้อมูลบิดเบือนของแต่ละประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายทั้งในที่ประชุมใหญ่ และการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอปัญหาท้าทาย การนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและเสนอแนวทางในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด เพื่อสร้างความเกลียดชัง จะนำไปสู่การก่อความรุนแรง หรือใช้ในการแพร่ขยายอุดมการณ์การก่อการร้ายตามแพลตฟอร์มต่างๆ คือความท้าทายที่ทุกประเทศกำลังเผชิญร่วมกัน และการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาค

ข้อมูล : ธัญชิต ผดุงศุภไลย
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 กุมภาพันธ์ 2567