Loading color scheme

รมว.ศธ. ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อน SDG 4 ของไทย ในเวทียูเนสโก

 N1 sdg4 10 11 2566

          เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวถ้อยแถลงในระหว่างการประชุมเต็มคณะของการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 โดยได้กล่าวสนับสนุนบทบาทของยูเนสโกในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และกล่าวถึงการน้อมนำแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเน้นย้ำในการกำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เน้นผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียนกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา มุ่งสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเตรียมความพร้อมให้ดียิ่งขึ้นสำหรับโลกแห่งอนาคต กล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มของยูเนสโกในการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว และการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพื้นที่สงวนต่าง ๆ เป็นศูนย์ทดลองและศูนย์การเรียนด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศของยูเนสโกที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก

sdg7 10 11 2566

          ในพิธีเปิดการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ได้มีการเลือกตั้งประธานการประชุมฯ โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธาน คือ Ms. Simona-Mirela Miculescu เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มราชอาณาจักรโรมาเนียประจำกรุงปารีส และผู้แทนถาวรโรมาเนียประจำองค์การยูเนสโก การประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน2566 ประกอบด้วย การประชุมเต็มคณะและการประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 5 สาขาหลักของยูเนสโก ได้แก่ คณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษา คณะกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์ คณะกรรมาธิการฝ่ายวัฒนธรรม คณะกรรมาธิการฝ่ายสังคมและมนุษยศาสตร์ และคณะกรรมาธิการฝ่ายสื่อสารมวลชน โดยจะมีผู้แทนคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของไทย เข้าร่วมตลอดการประชุมฯ

sdg1 10 11 2566

          ในช่วงระหว่างการประชุม รมว.ศธ. ได้มีโอกาสพบหารือกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศร่วมเสนอ “เคบายา” ขึ้นทะเบียนรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และได้เดินทางไปสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เพื่อรับทราบภารกิจต่างๆ รวมถึงการดูแลคนไทยในต่างประเทศ และได้พบปะกับนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 14 คน ประกอบด้วย นักเรียนที่ได้รับทุน กพ. และทุนหน่วยงานราชการ และนักเรียนที่เดินทางมาศึกษาด้วยตนเอง

sdg5 10 11 2566

          ในโอกาสการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เยี่ยมชมสถาบันอาชีวศึกษาและบริษัทชื่อดังด้านเทคโนโลยีของฝรั่งเศส เพื่อเจรจาหารือความร่วมมือด้านการศึกษา โดยได้พบหารือกับผู้บริหารของสถาบัน AFMAÉ สถาบันอาชีวศึกษาด้านการบิน รับฟังการนำเสนอการจัดการเรียนการสอนของสถาบันฯ ซึ่งสอนโดยอาจารย์ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพโดยตรง ทำให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่ง รมว.ศธ. เห็นว่าควรนำมาเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาในไทยได้ นอกจากนี้ รมว.ศธ. ได้ชื่นชมรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่สถาบันฯ ร่วมมือกับบริษัทภาคเอกชน ทั้งในด้านการฝึกงาน และการสร้างหลักประกันว่าเมื่อนักศึกษาจบหลักสูตรแล้วจะมีงานทำอย่างแน่นอน สอดคล้องกับนโยบายจบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) รมว.ศธ. และคณะยังได้หารือกับผู้บริหารบริษัทดัสซอลท์ ซิสเต็ม (Dassault Systemes) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาโดยเฉพาะในส่วนของการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา บริษัทฯ ได้มีการนำซอฟท์แวร์ เช่น การออกแบบ 3 มิติ และเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่ง รมว.ศธ. ได้นำเสนอนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” โดยเฉพาะในประเด็นเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจจะมีแนวคิดที่เป็นจุดร่วมที่สามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ในโอกาสนี้ รมว. ศธ. และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมพระราชวังฟงเตนโบล (Château de Fontainebleau) ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และแนวทางการอนุรักษ์พระราชวัง

france7 6 11 2566

สรุป/เรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
สริญณพัชร์ ธรรมบุศย์
พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
10 พฤศจิกายน 2566