Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการร่วมฉลองอุทยานธรณีโลกโคราช

geopark0 7 6 2566

          เมื่อวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุทิน แก้วพนา) ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ ได้เข้าร่วมพิธีแสดงความยินดีกับอุทยานธรณีโลกโคราช (Khorat UNESCO Global Geopark) ณ โถงกลาง อาคารสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โอกาสนี้นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้การต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับอุทยานธรณีโลกโคราช โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแนะนำคณะผู้เข้าร่วมพิธี นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นผู้กล่าวรายงานการขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เป็นผู้กล่าวรายงานความโดดเด่นอุทยานธรณีโคราช

geopark1 7 6 2566

          ในการนี้ นายลี่ปิง หวัง (Mr. Libing Wang) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยต่อนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่มีอุทยานธรณีแห่งที่ 2 ที่ได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และมอบเอกสารรับรองการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกให้กับนายกรัฐมนตรี จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณและขอให้ดำเนินการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจโดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่อไป โดยได้มอบเอกสารรับรองฯ ส่งต่อให้กับนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและคณะผู้แทนจากอุทยานธรณีโลกโคราช หลังจากนั้นได้ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

geopark2 7 6 2566

          อนึ่ง อุทยานธรณีโลกโคราช เป็นอุทยานธรณีประเทศไทยแห่งที่ 2 ที่ได้รับการรับรองตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก (UNESCO Executive Board) ครั้งที่ 216 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 มีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอต่อเนื่องกันในบริเวณลุ่มแม่น้ำลำตะคอง ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองโคราช และเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางธรณีที่สำคัญ มีความโดดเด่นเป็นสากล มีภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือเขารูปอีโต้ แหล่งที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคจำนวนมาก รวมถึงฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนที่แสดงถึงมรดกทางภูมิปัญญาและทางธรรมชาติอย่างกลมกลืน นับเป็นความภูมิใจของประเทศไทยที่มีเครือข่ายของยูเนสโกเพิ่มขึ้น และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าด้านการศึกษา ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม และ การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและธรรมนูญของยูเนสโก นอกจากนี้ อุทยานธรณีโลกโคราชจะเป็นอีกแหล่งเรียนรู้หนึ่งที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก มาก่อนแล้ว ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลก เป็นต้น โดยกระทรวงศึกษาธิการในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จะได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำความรู้จากเครือข่ายดังกล่าวไปสู่สถานศึกษา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือของเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก หรือ Associated Schools Project Network (ASPnet) ต่อไป

จีโอพาค 7 6 2566

สรุปและเรียบเรียง : พัทธดนย์ หลงปาน
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
สุปราณี คำยวง
รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 มิถุนายน 2566