Loading color scheme

เอกอัครราชทูต กรุงเบอร์ลิน เอกอัครราชทูต กรุงเบิร์น และรองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นครเจนีวา ให้เกียรติต้อนรับคณะยุวทูตสันติภาพเพื่อสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติ (Youth Ambassador for Peace of Mankind) เข้าเยี่ยมคารวะ

collage411343983359 788271825786464 3463825064051889710 n

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้อนุญาตให้คณะยุวทูตสันติภาพรุ่นที่ 1 ของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าเยี่ยมคารวะ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสที่คณะยุวทูตฯ เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 23 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2566 โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินได้บรรยายให้ความรู้แก่คณะยุวทูตฯ เกี่ยวกับประเทศเยอรมนีทั้งด้านประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการก้าวผ่านความผิดพลาดในอดีตไปสู่การพัฒนาเป็นประเทศแห่งความสงบสุข คณะยุวทูตฯ ได้ซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเอกอัครราชทูต โดยเอกอัครราชทูตได้ตอบข้อซักถามของคณะยุวทูตฯ ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสื่อสารแนวความคิดเรื่องสันติภาพไปสู่คนรุ่นใหม่ การเตรียมพร้อมรับมือเมื่อต้องอยู่ในสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน พร้อมกับให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการต่อยอดเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการฯ รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งแก่เหล่ายุวทูตฯ ผ่านมุมมองของบทบาทนักการทูตไทย

sS 10363001 side342611845 953250269425691 3810283156185280511 n

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2666 คณะยุวทูตฯ ได้เดินทางไปยังกรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตได้บรรยายสรุปรวมถึงได้ตอบข้อซักถามของคณะยุวทูตฯ เกี่ยวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและศาสนา ทำให้สวิตเซอร์แลนด์อยู่ท่ามกลางความแตกต่างในหลายด้าน แต่ก็ยังสามารถพัฒนาเป็นประเทศที่มีความเจริญและสุขสงบอันดับต้น ๆ ของโลกได้ เพราะประชาชนมีความเชื่อว่าความสงบสุขซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศนั้นต้องเริ่มจากการพัฒนาบุคคลจากที่บ้านก่อน ที่บ้านเด็ก ๆ จะได้รับการสอนให้เห็นความสำคัญของการศึกษาและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน สังคมสวิสปลูกฝังให้ประชากรของตนเคารพกฎหมาย มีวินัยในตนเอง และรักธรรมชาติ เมื่อประชากรมีความสงบสุข กินดีอยู่ดี มีความสมานฉันท์ สังคมจึงอยู่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ นอกจากนี้ยังให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมแก่คณะยุวทูตในการนำหลักคำสอนในศาสนาพุทธ ได้แก่ หลักพรหมวิหาร 4 และหลักกาลามสูตร มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดสันติภาพและความสงบสุขแก่ตนเองและสังคม

1.1Switzerland 05052023 ๒๓๐๕๐๘ 49 side1.2Switzerland 05052023 ๒๓๐๕๐๘ 169 side

จากนั้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 คณะยุวทูตฯ ได้เดินทางไปยังกรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของคณะยุวทูตฯ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ซึ่งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ร่วมกับคณะผู้แทนถาวรศรีลังกาจัดงานดังกล่าวขึ้น โดยมีพระภิกษุสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ และผู้แทนประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอื่น ๆ เข้าร่วมงานเพื่อแสดงความยินดีในวาระโอกาสการเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนาพุทธด้วย หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาแล้ว คณะยุวทูตฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายรองวุฒิ วีรบุตร  รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ที่สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยฯ นครเจนีวา โดยรองผู้แทนถาวรไทยฯ ได้บรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ โครงสร้างระบบการทำงานขององค์การสหประชาชาติ บทบาทและภารกิจของคณะผู้แทนถาวรไทยฯ รวมถึงได้เปิดโอกาสให้คณะยุวทูตฯ ได้สอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในสนใจและบทบาทที่คณะผู้แทนถาวรไทยฯ ในการร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดสันติภาพและความสงบสุขภายใต้กรอบการทำงานขององค์การสหประชาชาติ

สรุป/เรียบเรียง : ฐิติ ฟอกสันเทียะ
พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
8 พฤษภาคม 2566