Loading color scheme

พิธีประกาศมอบรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ ประจำปี ค.ศ.2016 (UNESCO International Literacy Prizes 2016)

UNESCO International Literacy Prizes 2016 13 9 2559

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้มีพิธีประกาศมอบรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือ ประจำปี ค.ศ.2016 (UNESCO International Literacy Prizes 2016) ซึ่งประกอบด้วย 2 รางวัล ได้แก่ UNESCO King Sejong Literacy Prize และรางวัล UNESCO Confucius Prize for Literacy โดยในปีนี้ โครงการวิจัยด้านทวิภาษาของประเทศไทย ซึ่งเสนอชื่อโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการฯ ให้ได้รับรางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize ประจำปี ค.ศ.2016 โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากคณะกรรมการตัดสินของยูเนสโกในเรื่องของการใช้นวัตกรรมทางด้านการเรียนการสอนที่สามารถทำให้เยาวชนไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น
โครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล) ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย มีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและความปรองดองด้วยการเรียนการสอนแบบทวิภาษาที่จัดขึ้นเพื่อกลุ่มคนมลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษามาลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งทำให้ทักษะทางภาษาไทยของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวไม่ดีนัก ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบเครื่องมือการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) ตั้งแต่ปี 2004 จนผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ คือ เด็กๆ ในโรงเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ถึงร้อยละ 50 และมีนักเรียนสอบผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 72 ต่อ ร้อยละ 44.65 เมื่อเทียบกับโรงเรียนคู่เทียบในพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญรูปแบบการสอนสามารถทำให้เด็กนักเรียนกล้าที่จะพูดภาษาไทยกับคุณครู และสามารถอ่านออก เขียนได้อย่างเป็นรูปธรรม และนอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กนักเรียนรู้สึกภูมิใจในภาษาถิ่นของตน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ใช้ภาษาที่แตกต่างจากตนเอง คนไทยและคนมลายูจะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ที่ได้รับรางวัลนานาชาติด้านการรู้หนังสือประจำปี ค.ศ.2016 ประกอบด้วย ผู้สมัครจากประเทศอินเดีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ ประเทศไทย และเวียดนาม โดยผู้สมัครจากประเทศอินเดีย เซเนกัล และแอฟริกาใต้ ได้รับรางวัล UNESCO Confucius Prize for Literacy สนับสนุนโดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และรางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize สนับสนุนโดยสาธารณรัฐเกาหลี มีผู้สมัครจากเวียดนาม และประเทศไทยได้รับรางวัลในปีนี้

UNESCO International Literacy1 Prizes 2016 horz 13 9 2559UNESCO International Literacy Prizes2 2016 13 9 2559

**************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
8 กันยายน 2559