Loading color scheme

ไทย จีน กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการศึกษา

 china 27 11 2566

          พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและจีน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ เข้าร่วมการเยี่ยมคารวะ ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้อง

china1 27 11 2566

china3 27 11 2566

          นาย หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยกล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้รัฐบาลปัจจุบันภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษา โดยมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือ การแข่งขันเกี่ยวกับความรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และกิจกรรมครั้งนี้ ห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและสมาคมครูภาษาจีนแห่งประเทศไทยได้รับความอนุเคราะห์ถ้วยรางวัลชนะเลิศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นเกียรติแก่ผู้แข่งขันด้วย จึงกล่าวได้ว่าไทยและจีนได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการศึกษา และหวังว่าทั้งสองประเทศจะพัฒนาความร่วมมือให้มากขึ้นต่อไป

china2 27 11 2566

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนฯ พร้อมทั้งขอบคุณฝ่ายจีนที่ให้การสนับสนุนและมีความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการด้วยดีมาตลอด ทั้งการเรียนการสอนภาษาจีน ทุนการศึกษา และการแลกเปลี่ยนด้านอาชีวศึกษา และได้กล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงฯ ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน คือ เรียนเพื่อความเป็นเลิศ และเรียนเพื่อความมั่นคงของชีวิต มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนเป็นคนดีและคนเก่ง ทั้งนี้ วิธีการที่จะทำให้มีความสุข คือ การลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง ส่งเสริมให้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) การจัดระบบแนะแนวให้นักเรียนเพื่อให้เข้าใจเป้าหมายของตนเองมากขึ้น รวมถึงการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) ทั้งนี้ เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการศึกษาและการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนไทย

china5 27 11 2566

          นาย หาน จื้อเฉียง ได้แสดงความชื่นชมต่อนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีฯ และมีความเห็นว่าการศึกษาในจีนก็มีนโยบายที่คล้ายกัน โดยพยายามที่จะลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง เน้นการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรแบบบูรณาการทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม วิชาการ และพลศึกษา เพื่อสร้างความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียน ทั้งนี้ จีนมุ่งหวังที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-จีนในทุกระดับ รวมถึงด้านอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องและพัฒนาให้มากขึ้น สะท้อนถึงวลีที่ว่า “จีน-ไทย ไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

สรุป/เรียบเรียง : ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
27 พฤศจิกายน 2566