Loading color scheme

ไทยและเยอรมนีร่วมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษา

Germany 27 11 2566

          พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล (H.E. Mr. Ernst Wolfgang Reichel) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจําประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและเยอรมนี โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเข้าร่วมการเยี่ยมคารวะ ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร.ท. สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้อง

Germany1 27 11 2566

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับ นายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล และขอบคุณที่เยอรมนีให้การสนับสนุนและมีความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการด้วยดีมาตลอด ทั้งการเรียนการสอนภาษาเยอรมันและด้านอาชีวศึกษา โดยเฉพาะความร่วมมือแบบทวิภาคี (German Thai Dual Excellence Education program – GTDEE) และได้กล่าวถึงนโยบายการศึกษาของกระทรวงซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) การลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง ส่งเสริมให้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน คือ เรียนเพื่อความเป็นเลิศ และเรียนเพื่อความมั่นคงของชีวิต พร้อมทั้งมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนเป็นคนดีและคนเก่ง ทั้งนี้ เห็นว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสูง หากสามารถให้การสนับสนุนและขยายความร่วมมือมากขึ้นในด้านอาชีศึกษา ทั้งในรูปแบบการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่นักเรียนไทย และการสนับสนุนให้นักเรียนได้มีโอกาสไปฝึกงานในบริษัทหรือสถาบันชั้นนำที่เยอรมัน ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพของนักเรียนไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานเยอรมันมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังมีความร่วมมือกับสถาบันเกอเธ่ และศูนย์เครือข่ายภาษาเยอรมัน โดยที่ผ่านมา มีการอบรมครูไปแล้วจำนวนหนึ่ง ดังนั้น หากฝ่ายเยอรมนีจะสามารถขยายโครงการและให้การสนับสนุนการอบรมดังกล่าว ก็จะช่วยส่งเสริมศักยภาพครูและนักเรียนที่เรียนภาษาเยอรมันได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไทยและเยอรมนีอยู่ระหว่างการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงศึกษาธิการและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (Joint Declaration of Intent Between the Ministry of Education of the Kingdom of Thailand and the Federal Ministry of Education and Research of the Federal Republic of Germany)

Germany2 27 11 2566

          นายแอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล กล่าวถึงการศึกษาในเยอรมนีว่า เน้นศักยภาพด้านอาชีวศึกษาและวิศวกรรมชั้นสูงเนื่องจากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถสร้างมาตรฐานที่สูงได้ โดยฝ่ายเยอรมนียินดีที่จะสนับสนุนด้านอาชีวศึกษาของไทย ซึ่งปัจจุบันความร่วมมือในสถาบันการศึกษาไทย-เยอรมัน ได้ขยายเติบโตและก้าวหน้า อีกทั้ง มีการเชื่อมโยงไปยังนิคมอุตสาหกรรมและเป็นโมเดลความร่วมมือในหลายสถาบัน ดังนั้น จึงมีความยินดีที่จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อไป

Germany3 27 11 2566

Germany4 27 11 2566

สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์  พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
24 พฤศจิกายน 2566