Loading color scheme

ไทยและตุรกีร่วมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษา

turkey 23 11 2566

          พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและตุรกี

turkey2 23 11 2566

          นางแซรัป แอร์ซอย พร้อมด้วย Mr. Melihcan Ersen รองหัวหน้าคณะผู้แทนตุรกี และ Mrs. Ayşe Mehlika Yıldız Ersen เลขานุการโท ได้เข้าพบและพูดคุยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษา

turkey1 23 11 2566

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับนางแซรัป แอร์ซอย และขอบคุณที่ตุรกีให้การสนับสนุนด้านทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมาโดยตลอด พร้อมกันนี้ได้แสดงความยินดีในโอกาสที่ปีนี้ ไทยและตุรกีครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 65 ปี และตุรกีฉลองครบรอบ 100 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐ ตุรกีเป็นประเทศที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และพลเมืองมีความสามารถ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงนโยบายการศึกษา ได้แก่ “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) การลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง ส่งเสริมให้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน คือ เรียนเพื่อความเป็นเลิศและเรียนเพื่อความมั่นคงของชีวิต มุ่งเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง และมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนเป็นคนดีและคนเก่ง หากได้รับความร่วมมือด้านการศึกษาจากตุรกี ก็จะส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี

turkey3 23 11 2566

          นางแซรัป แอร์ซอย กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและตุรกีซึ่งมีมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยประเทศไทยเป็นคู่ภาคีสำคัญในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการศึกษา ซึ่งถือเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ การศึกษาเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การพัฒนาสังคมยุคใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในปัจจุบัน ทั้งนี้ ไทยและตุรกีได้ลงนามความร่วมมือภายใต้กรอบการปฏิบัติตามผลการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย - ตุรกี และแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ตุรกี ฉบับที่ 2 (The Second Join Plan of Action between the Kingdom of Thailand and the Republic of Türkíye) ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 - 2571 ซึ่งมีการลงนามเมื่อเดือนมกราคม 2566 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย โดยมีความร่วมมือด้านการศึกษา และการพัฒนารวมอยู่ด้วย ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยได้รับทุนไปศึกษาต่อยังประเทศตุรกีกว่า 300 คน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่นักเรียนได้เรียนรู้ระหว่าง 2 วัฒนธรรม ในอนาคตฝ่ายตุรกีประสงค์จะเพิ่มจำนวนทุนให้แก่นักเรียนไทย โดยขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการในการประชาสัมพันธ์ต่อไป

เรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 พฤศจิกายน 2566