Loading color scheme

การประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน สำนักงานใหญ่ยูเนสโก

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผนึกความร่วมมือกับผู้นำการศึกษาของโลก ร่วมผลักดันการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนครั้งใหญ่ 
ในระหว่างการประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 1 (Global Education For All Meeting) 
สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ฝรั่งเศส

dscn1266sam_0296

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ ๑ (Global Education for All Meeting :GEM) เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ในวาระการประชุมหัวข้อเรื่อง การทบทวนข้อสรุปและข้อเสนอแนะจากเอกสารรายงานการติดตามประเมินผลระดับโลก และระดับภูมิภาคด้านการศึกษาเพื่อปวงชน และการประชุมหัวข้อเรื่อง การระบุข้ออุปสรรคต่อการดำเนินความก้าวหน้าด้านการศึกษาเพื่อปวงชน และร่วมกำหนดประเด็นที่ควรเร่งรัดการดำเนินการร่วมกัน

สำหรับการประชุม Global EFA Meeting ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นเพื่อทบทวนความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายทั้ง ๖ ประการของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ตามรายงานการประเมินผลโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนปี ๒๕๕๕ (GMR) ในหัวข้อ Youth and skills : Putting education to work รวมทั้งข้อมูลและรายงานในระดับชาติและระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งรายงานจากการประชุมว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนที่สำคัญ เช่น การประชุมระดับภูมิภาคด้านการศึกษาเพื่อปวงชน  การประชุมหารือขององค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อปวงชนขององค์กรพัฒนาเอกชน (CCNGO/EFA) และการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศ E9 ครั้งที่ ๙ เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดการประชุมครั้งนี้ ยังได้ร่วมกันพิจารณาสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า และกำหนดการดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์และข้อริเริ่มต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติ แนวปฏิบัติที่ดี และนโยบายที่ประสบผลสำเร็จที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งท้าทายต่างๆ ในระดับโลก และในแต่ละประเทศ เพื่อเร่งความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี ๒๕๕๘ ที่ได้กำหนดร่วมกันระหว่างประชาชาติ ๑๖๐ ประเทศเมื่อปี ๒๕๔๓

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ๑) การประชุมคณะอำนวยการด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (EFA Steering Committee) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้แทนในกลุ่มภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ร่วมกับผู้แทนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอื่นๆ ของยูเนสโก รวมทั้งองค์กรที่เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับยูเนสโก ประกอบด้วย องค์กรพัฒนาเอกชนหน่วยงานภาคเอกชน ๒) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting) ซึ่งมีผู้แทนระดับปลัดกระทรวงด้านการศึกษาของภูมิภาคต่างๆ และ ๓) การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษา (High-Level Ministerial Meeting) ซึ่งประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แทนกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

ข้อเสนอแนะจากรายงานการประเมินผลโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ปี ๒๕๕๕
องค์การยูเนสโกได้นำเสนอรายงานการประเมินผลโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ปี ๒๕๕๕ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้จัดทำขึ้นในหัวข้อ Youth and skills : Putting education to work รายงานได้กล่าวถึงสถานะปัจจุบันและข้อเสนอแนะในการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนทั้ง ๖ ประการ ตามที่หลายประเทศยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย เป้าหมาย ๑: การพัฒนาด้านการดูแลและการจัดการศึกษาเพื่อเด็กปฐมวัยยังเป็นไปอย่างล่าช้า ในปี ๒๐๑๐ เด็กอายุต่ำกว่า ๕ ขวบประมาณร้อยละ ๒๘ ยังคงมีสภาวะแคระแกร็น เด็กทั่วโลกจำนวนน้อยกว่าครึ่งได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย เป้าหมาย ๒: ความก้าวหน้าการจัดการประถมศึกษาสำหรับทุกคนยังคงชะงักงัน จำนวนเด็กทั่วโลกที่ไม่ได้เรียนหนังสือยังคงอยู่ที่ ๖๑ ล้านคนในปี ๒๐๑๐ จากจำนวนนี้ ร้อยละ ๔๗ ไม่มีความหวังว่าจะมีโอกาสได้เข้าโรงเรียน เป้าหมาย ๓: เยาวชนจำนวนมากยังขาดทักษะพื้นฐาน ใน ๑๒๓ ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางค่อนไปทางต่ำ มีเด็กอายุ ๑๕ ๒๔ ปีที่เรียนไม่จบในระดับประถมศึกษา คิดเป็นจำนวน ๑ ใน ๕ ของประชากรหนุ่มสาว เป้าหมาย ๔: อัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ยังคงยากที่จะบรรลุเป้าหมาย  ในปี ๒๐๑๐ ผู้ใหญ่ราวๆ ๗๗๕ ล้านคนเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ โดย ๒ ใน ๓ เป็นผู้หญิง เป้าหมาย ๕: ความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิงปรากฏให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ ในปี ๒๐๑๐ ใน ๑๗ ประเทศยังคงมีเด็กหญิงจำนวนน้อยกว่าเก้าคนในจำนวนเด็กชายทุกๆ สิบคน ที่ได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษา และเป้าหมาย ๖: ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังคงน่าวิตก เด็กจำนวนมากถึง ๒๕๐ ล้านคนอาจยังไม่สามารถเรียนรู้ทักษะการอ่านและเขียนในขณะเรียนอยู่ในชั้นประถมปีที่ ๔

รายงานชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มงบการศึกษาสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนได้เป็นอย่างดี แต่ขณะที่จำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษากำลังชะลอตัว  เกิดสภาพน่าวิตกว่าจำนวนเงินช่วยเหลือจากประเทศผู้บริจาคก็อาจชะลอตัวด้วยเช่นกัน แม้ว่าจำนวนเงินที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียวจะไม่ใช่หลักประกันที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนได้ แต่ทว่าจำนวนเงินที่น้อยลงย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบ ฉะนั้นการฟื้นฟูความร่วมมือในพันธกิจการศึกษาในกลุ่มประเทศผู้บริจาคจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้ง การสำรวจศักยภาพของแหล่งเงินทุนใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการคลังและสร้างเสริมแนวทางการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

รายงานฉบับนี้ได้ระบุประเภทของทักษะหลักๆ ที่เยาวชนทุกคนจำเป็นต้องมีไว้ ๓ ประเภท คือ ทักษะพื้นฐาน (Foundation Skill) ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน (Transferable Skill) ทักษะด้านเทคนิคและอาชีพ (Technical and Vocational Skills)

ทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชน

รายงานฉบับนี้ได้ระบุ ๑๐ ขั้นตอนสำคัญที่สุดที่ควรปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะของเยาวชนโดยสามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละประเทศ ประกอบด้วย

) การจัดบริการการศึกษาที่ให้โอกาสที่สองสำหรับผู้มีทักษะน้อยหรือขาดทักษะพื้นฐาน
) ขจัดอุปสรรคที่กีดขวางโอกาสเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
) การเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมปลายมากขึ้น และพัฒนาหลักสูตรไปสู่การใช้งานได้จริง
) การเปิดโอกาสให้เยาวชนยากจนในเมืองได้รับการฝึกอบรมทักษะเพื่อการจ้างงานที่ดีขึ้น
) การพุ่งเป้านโยบายและแผนงานไปที่เยาวชนด้อยโอกาสในชนบท
) การเชื่อมโยงการฝึกทักษะเข้ากับการคุ้มครองทางสังคมเพื่อเยาวชนที่ยากไร้ที่สุด
) การจัดลำดับความสำคัญให้แก่การฝึกอบรมเยาวชนหญิงด้อยโอกาส
) การนำศักยภาพทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับเยาวชน
) การปรับปรุงแผนงานโดยการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านข้อมูลและการประสานงานในหลักสูตรฝึกอบรมทักษะ และ
๑๐) ระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากแหล่งที่มาที่หลากหลายเพื่อจัดฝึกอบรมให้แก่เยาวชนด้อยโอกาส

 

ในการประชุมฯ ครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันออกแถลงการณ์การประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ๒๕๕๘ (Paris Statement) ประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญเพื่อเร่งรัดให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี ๒๕๕๘ การจัดทำพันธกรณีในการผลักดันเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนครั้งใหญ่ และการเตรียมการเพื่อจัดทำวาระการศึกษาภายหลังปี ๒๕๕๘ ดังนี้
- การร่วมผลักดันการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนซึ่งเป็นพันธกรณีที่ทั่วโลกจะต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน  นับตั้งแต่การประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนที่จอมเทียน ประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๓๓ การประชุมเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล เมื่อปี ๒๕๔๔ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเด็ก  เยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์
- การขยายการดำเนินความร่วมมือกับหุ้นส่วนการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนเพื่อร่วมกันผลักดันการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี ๒๕๕๘
- การสนับสนุนข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ “Education First” ในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน  โดยให้มีการดำเนินการอย่างใกล้ชิดและเป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสได้รับการศึกษาการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการส่งเสริมการเป็นประชาชนของโลก
Realization of the UN Secretary-General’s Education First Initiative
in
close cooperation and in synergy with the EFA Movement,
will contribute to progress on all the Millennium Development Goals (MSGs),
and to get every child in school,
improve the quality of learning
and foster global citizenship
- การให้ความสำคัญต่อผลของรายงานการประเมินผลโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนปี ๒๕๕๕ ที่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายหลายประการของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนยังไม่สามารถบรรลุผล  โดยในปี ๒๕๕๓ ยังคงมีเด็กจำนวน ๖๑ ล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าเรียน เด็กจำนวน ๒๐๐ ล้านคนไม่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา ผู้ใหญ่จำนวน ๗๗๕ ล้านคนยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ใน ๑๗ ประเทศยังคงมีเด็กหญิงจำนวนน้อยกว่าเก้าคนในจำนวนเด็กชายทุกๆ สิบคน ที่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งในด้านการเข้าเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศยังคงมีอยู่ทั่วไป  เด็กจำนวน ๒๕๐ ล้านคนยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้
- การจัดการศึกษาที่ไม่มีความคืบหน้าสกัดกั้นการบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนา และเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพและการรวมตัวทางสังคม
- ส่งเสริมการประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กหญิงและเด็กชายที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
- การหารือเกี่ยวกับแนวทางสำคัญในการดำเนินการด้านการศึกษาเพื่อปวงชนจนถึงปี ๒๕๕๘ โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการจัดเตรียมรายงานทบทวนการดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน และแผน ปฏิบัติการจนถึงปี ๒๕๕๘ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจหมายรวมถึงการนำเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนบรรจุไว้ในแผนงานและกระบวนการต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการตรวจสอบและประเมินผล เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดทำตัวชี้วัดด้านการศึกษาเพื่อปวงชนและมีการรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้ง  การส่งเสริมการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างมีระบบ
- การร่วมกันขจัดสิ่งกีดกั้นเด็กด้อยโอกาสจากการเข้าเรียนด้วยการปฏิรูปการศึกษาด้านนโยบาย หลักสูตรการศึกษา การพัฒนาอาชีพ การวิจัย/การประเมินผล และการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพด้วยการใช้ ICT
- การเสนอให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนและเยาวชนจะได้รับการศึกษาแบบการเรียนร่วม โดยไม่คำนึงถึงความมั่งคั่ง เพศ เชื้อชาติ ความพิการ และที่อยู่อาศัย
- การกำหนดนโยบายทางการเมืองที่มีเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจนสามารถขจัดอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน ข้อริเริ่มทางการเมืองของกลุ่มประเทศ E-9 เช่น โครงการสนับสนุนการจัดสรรเงินให้แก่ผู้ยากไร้และการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิทางการศึกษา
- การศึกษาสามารถสร้างทักษะพื้นฐานและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ทักษะด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ เช่น ความร่วมมือ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ  โรงเรียนและศูนย์การฝึกอบรมสามารถเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับการฝึกฝนประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การสร้างศักยภาพการแข่งขันและก่อให้เกิดการว่าจ้างงานของเยาวชน  รวมทั้ง ให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้ยากไร้ในเมืองและชนบทที่เป็นกลุ่มด้อยโอกาส รวมทั้งสตรี ได้รับการศึกษาที่นอกเหนือจากการศึกษาในระบบโรงเรียน ตามที่ได้ตกลงร่วมกันในแถลงการณ์ Shanghai Consensus on Technical and Vocational Training
Education should provide all learners  with foundation and transferable skill,
Technical and vocational skills, and 21st century skills,
such as collaboration, creativity and problem-solving
- การศึกษาจะต้องส่งเสริมการเป็นประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมความหลักการประชาธิปไตยและข้อมติด้านสันติภาพเพื่อนำไปสู่การแก้ไขข้อขัดแย้งต่างๆ
- การตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่มีความสำคัญมากกว่าตัวหนังสือ  ด้วยการสนับสนุนความพยายามระดับชาติที่จะนำถ้อยแถลงปารีสไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ด้วยการเน้นในเรื่องการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสตรีเพื่อให้เกิดการว่าจ้างงานและการเพิ่มการเรียนรู้สำหรับเด็ก
- การตระหนักว่าการอุดมศึกษาเป็นการบริการสาธารณะที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและการศึกษาเพื่อปวงชนที่ได้ประกาศในปฏิญญาว่าด้วยการประชุมโลกด้านการอุดมศึกษา เมื่อปี ๒๕๕๒
- การเรียกร้องให้หุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อปวงชน ทุ่มเทความพยายามในการผลักดันการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งใหญ่ ภายในปี ๒๕๕๘
- การเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยูเนสโกกำหนดการดำเนินการที่เร่งด่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี ๒๕๕๘
- การขาดงบประมาณเป็นอุปสรรคที่ใหญ่หลวงต่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน ด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอย่างน้อยร้อยละ ๖ ของ GNP หรือร้อยละ ๒๐ ของรายจ่ายสาธารณะที่ให้ต่อการศึกษา ตามแถลงการณ์จอมเทียนของที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน เมื่อปี ๒๕๕๔
- การแสวงหาแหล่งงบประมาณใหม่ๆ เช่น การจัดมาตรการทางภาษี การเพิ่มหุ้นส่วนทางการศึกษาการเพิ่มการลงทุนทางการศึกษาเพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว
- การให้ความสำคัญต่อคุณภาพครูและการสอน ด้วยการย้ำความสำคัญต่อบทบาทครูในการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนและการบรรลุเป้าหมายการศึกษาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ควรมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู  การจัดทำนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับครู และการประเมินผลความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในการดำเนินความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชุมชนท้องถิ่นและองค์กรครู นโยบายดังกล่าวรวมถึงยุทธศาสตร์ในการคัดสรรครู การอบรมก่อนประจำการและการฝึกหัดครู การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาเงื่อนไขที่นำไปสู่การเรียนรู้ การพัฒนาสถานะของอาชีพครู ในขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจว่าโรงเรียนทุกแห่งทั้งในเมืองและชนบทต้องมีครูที่มีประสิทธิภาพประจำการ เพื่อสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับนักเรียนทุกคน
- การเสนอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ  คงการจัดสรรงบประมาณให้แก่การศึกษา ด้วยการเรียกร้องให้หน่วยงานดำเนินการด้านการศึกษาเพื่อปวงชนยังคงทุ่มเทความพยายามในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้วยการจัดทำแผนและงบประมาณ รวมทั้งการสนับสนุนให้ภาคเอกชนยังคงมีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน
- การเรียกร้องให้ยูเนสโกจัดให้มีการหารือเกี่ยวกับวาระการศึกษาเพื่อปวงชนภายหลังปี ๒๕๕๘ การตระหนักถึงความสำคัญต่อการดำเนินการร่วมกันเพื่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาภายหลังปี ๒๕๕๘ การกำหนดให้วาระการศึกษาบรรจุอยู่ในวาระการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ภายหลังปี ๒๕๕๘ ซึ่งทั้งสองเป้าหมายจะต้องดำเนินการร่วมกันและเป็นไปในทางเดียวกัน

We emphasize the importance of working towards ambitious and
easily understandable post-2015 education goals,
the importance of placing education in the post-2015 MDGs and
that these two are coherent and mutually reinforcing
- การให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือ South-South Cooperation และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการและการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวปฏิบัติเชิงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการบรรลุผลการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน
- การยึดมั่นในพันธะสัญญาเพื่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน การตกลงร่วมกันในการทบทวนการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในระดับชาติและภูมิภาคซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนในปี ๒๕๕๘ โดยสาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
ดาวน์โหลดไฟล์

กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี ๑
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕