Loading color scheme

สรุปการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโกครั้งที่ 37 ประเทศฝรั่งเศส

GG37-003

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 การประชุม Leaders’ Forum

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เข้าร่วมการประชุมสำหรับผู้นำประเทศ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้จัดขึ้นระหว่างการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 การประชุมครั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้เชิญ  Ms. Laura Chinchilla ประธานาธิบดีของคอสตาริก้า Mr. Moncef Marzouki ประธานาธิบดีของตูนิเซีย และ Mr. Algirdas Butkevicius นายกรัฐมนตรีของลิธัวเนีย กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อที่ยูเนสโกได้กำหนดไว้ คือ “UNESCO Mobilizing for and Contributing to the Post-2015 Agenda thorough education, the sciences, culture and communication and information”

โดยในระหว่างการประชุมได้มี Mr. HAO Ping ประธานการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 37 ได้กล่าวว่า องค์การยูเนสโกเป็นองค์การแห่งการส่งเสริมภูมิปัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างสันติภาพ การละเว้นสงคราม ส่งเสริมให้ประชาคมโลกมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม การพัฒนา สนับสนุนให้มีการลงทุนด้านการศึกษาด้วยการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศ

1. Ms. Alissandra CUMMINS ประธานคณะกรรมการบริหารของยูเนสโกได้กล่าวว่าประชาคมโลกมีพันธกิจร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษของสหประชาชาติ หัวข้อการประชุมฯ ครั้งนี้  เพื่อการรวบรวมความคิดของผู้นำด้านการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เพื่อก่อประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินงานจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างสาขา ทั้งในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน เพื่อให้บรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านการศึกษาภายหลังปี 2558 นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเน้นในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว หรือ green economy โดยได้มีการกำหนดให้เรื่องดังกล่าวอยู่ในวาระการพัฒนาภายหลังปี 2558 การให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษย์ชน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีภารกิจในการตระหนักถึงประชาคมโลก โดยยูเนสโกจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของโลกในการให้ประชาคมโลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภายหลังปี 2558

          ในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม จะต้องส่งเสริมความร่วมมือในการนำวัฒนธรรมมาใช้ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนา โดยทุกประเทศจะต้องมีการปรับตัวในด้านวัฒนธรรมเพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ จะต้องมีการพัฒนารูปแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะการบูรณาการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน  นอกจากนี้ ยูเนสโกจะต้องมีการเชื่อมโยงความชำนาญการเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา นอกจากนี้ จะต้องแสวงหาหุ้นส่วนความร่วมมือให้มากขึ้น มีการดำเนินความร่วมมือในโปรแกรมต่างๆ ของยูเนสโกเพื่อส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานในการเป็น centre of expertise พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของยูเนสโก

2. Ms Irina BOKOVA ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกได้กล่าวว่าประชาคมโลกมีพันธกิจในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนามนุษย์ในโลกที่มีความเท่าเทียม ตามที่ได้มีเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2558 ประชาคมโลกจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการขจัดความยากจน การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เคารพในหลักการสิทธิมนุษย์ชน ส่งเสริมสันติภาพ ตามที่เลขาธิการสหประชาชาติได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือกรอบการดำเนินงานในวาระการพัฒนาของสหประชาชาติ ภายหลังปี 2558  ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านการศึกษาจะเป็นนวาระสำคัญในวาระการพัฒนาดังกล่าว โดยจะต้องมีการดำเนินงานในลักษณะข้ามสาขาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาของ 2015 แต่แก้ไขปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือ และประชาชนทุกคนมีการศึกษาตลอดชีวิต การพัฒนาโลกในปัจจุบันและภายหลังปี 2558 จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้มีนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะที่เป็นสตรี โดยจะต้องส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การกำหนดนโยบายของประเทศ และการพัฒนาทางสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ยูเนสโกจะต้องมีบทบาทสำคัญและกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในวาระการพัฒนาภายหลังปี 2558

3. Ms. Laura CHINCHILLA ประธานาธิปดีของสาธารณรัฐคอสตา ริก้า ได้กล่าวถึงความสำคัญในการเคารพในหลักการสิทธิมนุษย์ชน การเสริมสร้างสันติภาพ นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของสาธารณรัฐคอสต้าริก้า ที่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  เช่น การแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมด้วยลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์   การให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ มีการสร้างแหล่งธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และแหล่งมรดกโลก นอกจากนี้ คอสตาริก้า ยังเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เคารพในหลักการสิทธิมนุษย์ชน ส่งเสริมระบบการศึกษา และระบบการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมจริยธรรมของประชาชนทุกคน การจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงหลักการด้านจริยธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จะต้องมีการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน และต่อต้านความขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงคราม มีการดำเนินงานทางกฎหมายเพื่อรังสรรค์สันติภาพ ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน

4. Mr. Moncef MARZOUKI ประธานาธิปดีของตูนิเซียได้กล่าวถึงความสำคัญของความเจริญก้าวหน้าในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการลงทุนทางการศึกษา  มีการพัฒนาระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น การนำ ICT มาใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยทุกประเทศจะต้องมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะในวงการการศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงหุ้นส่วนความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม การจัดการศึกษานับเป็นการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพแรงานที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศ ทุกประเทศที่มีความก้าวหน้าจะต้องมีแรงงานที่มีคุณภาพ  การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่อาจบรรลุผลหากไม่สามารถพัฒนาเป้าหมายทางการศึกษา และระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เป้าหมายการศึกษาจะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

- การจัดการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนมีทักษะความชำนาญการ เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้แบบท่องจำเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน การสร้างศักยภาพ และมีรูปแบบและเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีความชัดเจน

- การพัฒนาผู้เรียนที่เน้นการสร้างสรรค์ความสามารถพิเศษ มีความคิดสร้างสรรค์ มีการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่คำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล โดยคำนึงถึงความต้องการที่จะได้รับการพัฒนาทักษะเป็นพิเศษ 

- การส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง โดยการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ต่อต้านคอรัปชั่น การโฆษณาชวนเชื่อ สนับสนุนการเรียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษย์ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เคารพในหลักการสิทธิมนุษย์ชน 

5. Mr Algirdas BUTKEVICIUS นายกรัฐมนตรีของลิธัวเนียได้กล่าวถึงพันธกิจของโลกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยองค์การยูเนสโกได้มีพันธกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ด้วยการดำเนินโครงการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน โดยการบรรลุเป้าหมาย MDG จะต้องมีความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้คนพ้นจากปัญหาความยากจน  โดยการพัฒนาเยาวชนเป็นเป้าหมายที่สำคัญสำหรับการพัฒนา ด้วยการให้ประชาชนได้รับการศึกษา การส่งเสริมการรู้หนังสือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และพัฒนาระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ  โดยการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนที่มีคุณภาพจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะต้องมีการเชื่อมโยงกับการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจะต้องมีการดำเนินการแบบองค์รวมทั้ง ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก นอกจากนี้ ข้อมูลข่าวสารนับว่ามีความสำคัญ ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยวัฒนธรรมจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม รักษาอัตลักษณ์ไว้สำหรับชนรุ่นต่อไป การดำเนินงานในปี 2558 จะให้ความสำคัญต่อความเสมอภาค คุณภาพ การปกครองระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหาความรุนแรง การสร้างสังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์และดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

6. Mr. Mohammad Javad ZARIF รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิหร่าน ได้กล่าวถึงแนวคิดหลักด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการหลอมรวมการดำเนินการต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความตระหนัก และความรับผิดชอบทางสังคม การส่งเสริมประชาชนให้มีจิตสำนึกจะสามารถพัฒนาสังคมไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมสามารถสร้างความตระหนักของบุคคลและกลุ่มบุคคลเกี่ยวกับปัญหาที่โลกเผชิญ วัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมทำให้เราสามารถหลอมรวมการดำเนินการต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

7. Mr. Abdulaziz Othman ALTWAIJRI ผู้อำนวยการใหญ่ของ ISESCOได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งต้องเผชิญกับผลกระทบ และปัญหา ต่างๆ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน ด้วยการดำเนินงานในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน   รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมเพื่อร่วมกันพัฒนาโลกที่มีความยุติธรรมและปราศจากความขัดแย้ง

8. Ms Marie Madeleine MBORANTSU ประธานาธิปดีของกาบองได้กล่าวถึงการที่ยูเนสโกได้ให้ความสำคัญกับทวีปแอฟริกาโดยให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนความเชี่ยวชาญต่างๆ การเสริมสร้างศักยภาพสตรี เป็นต้น  ทั้งนี้ ในการดำเนินการด้านการศึกษา ได้ให้ข้อคิดเห็นดังนี้

- การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างสังคมที่มีศักยภาพ การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยในการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อสามารถจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนทั่วโลก การพัฒนาครู การจัดทำมาตรฐานการศึกษา

- การจัดการศึกษาจะต้องเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ และเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเป็นนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ และมีแผนการดำเนินงานระยะยาว มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาในระดับชาติ รวมถึงการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงการจัดการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

9. H.E. Sheikh Nahyane Bin Moubarak Al-Nahyane รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชนและการพัฒนาสังคมของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต์ ได้กล่าวถึงความสำคัญ ของการศึกษาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การขจัดความยากจน  นอกจากนี้ ควรมีการดำเนินงานดังนี้

- การส่งเสริมการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมซึ่งป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน ยูเนสโกควรมีการดำเนินการเพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีของคนในโลก

- ควรมีการส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อช่วยในการพัฒนา

- ควรมีความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

- ยูเนสโกควรส่งเสริมบทบาทของวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างกิจกรรมต่างๆอันจะก่อให้เกิดสันติภาพ ยูเนสโกควรให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การรักษามรดกโลก การส่งเสริมประชาธิปไตย การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแนวทางการจัดการศึกษาในอนาคตในการประชุมสำหรับผู้นำประเทศ (Leaders’ Forum) ของยูเนสโก โดยได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการศึกษาภายหลังปี 2558  ซึ่งจะต้องตั้งอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน และการยึดมั่นต่อค่านิยมสากลแห่งความเท่าเทียมกัน โดยประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนข้อริเริ่ม “Global Education First Initiative” ของเลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างองค์ความรู้ ค่านิยม  ทักษะในการดำรงชีวิตทางสังคม  เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตลอดชีวิต โดยประเทศไทยได้ประกาศให้มีการรวมพลังความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ความคิดวิเคราะห์ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เน้นการพัฒนาผู้เรียนทางด้านคณิตศาสตร์ เพื่อประกอบอาชีพนักวิทยาศาสตร์และสร้างนักวิจัยในอนาคต  รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมความรู้ของนักเรียน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะ และการว่าจ้างงาน เป็นต้น                                                                                            

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวสุนทรพจน์ในนามประเทศไทยโดยกล่าวถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนของโลกให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2558 ตามที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศริเริ่มการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนเมื่อปี 2533 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกคน เพื่อนำประเทศไทยสู่สังคมแห่งความรู้ เน้นการสรรค์สร้างนวัตกรรม และความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน  โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการ

ประชุมระดับสูงว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2557 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการศึกษาเพื่อปวงชน และการกำหนดเป้าหมายสำคัญในการจัดการศึกษาภายหลังปี 2558  นอกจากนี้ ในปี 2557 รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 20.5 ของงบประมาณชาติ เพื่อพัฒนาการการศึกษาและรองรับการพัฒนากำลังคนอย่างมีศักยภาพ  พร้อมทั้งได้ประกาศให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ปี 2556 เป็นต้นไป เป็นปีแห่งการรวมพลังเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งเน้นความสำคัญของการวางรากฐานสำคัญของการพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ การพัฒนาทักษะชีวิต การรู้หนังสือและการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในทุกระดับ การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมถึงการผลิตกำลังคนเพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ  

                   นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมุ่งที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก ในสาขาความชำนาญการของยูเนสโก อาทิ ให้การสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว การสร้างพลังงานทดแทน และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม การขจัดความยากจน และการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน 

3. การประกาศร่วมเฉลิมฉลองผู้ที่มีผลงานดีเด่นของประเทศไทย ในปี 2557-2558

    เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 องค์การยูเนสโกได้มีมติประกาศร่วมเฉลิมฉลอง ผู้ที่มีผลงานดีเด่นของประเทศไทย ในปี 2557-2558 จำนวน 3 รายการ ดังนี้

1) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้า เสนอโดยสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในการประกอบพระราชกรณียกิจในประเทศไทย หลังจากเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 20 เมษายน 2457 และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบรอบ 10 ปีนักษัตรในวันที่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

2) สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เสนอโดยราชินีมูลนิธิ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ 150 ปี วันที่ 1 มกราคม 2556 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา (การศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์) วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุขสำหรับประชาชนทั่วไปและสตรี) และสังคมและมนุษย์ศาสตร์ (สถานะของสตรี)

3) หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เสนอโดยมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในปี พ.ศ. 2558 เนื่องจากเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชุมชน และการศึกษาด้านวัฒนธรรม 

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม 

-----------------------

กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่่างประเทศ 

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

กระทรวงศึกษาธิการ

4 ธันวาคม 2556