Loading color scheme

“ยูเนสโก” ประกาศร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทย ปี 2565-2566

 200th anniversary 26 11 2564

          ที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโกครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 9 - 24 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกในปี 2565 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 67 รายการในจำนวนดังกล่าวเป็นรายพระนามและรายนามของประเทศไทย ได้แก่ การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีประสูติ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 200 ปีชาตกาล ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยสาระสำคัญของการร่วมเฉลิมฉลองตามลำดับปี ดังนี้

          1. การเฉลิมฉลองวันครบรอบ 200 ปีชาตกาล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) (200th anniversary of the birth of Phraya Srisundaravohara (Noi Achâryânkura) ด้านการศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งจะครบรอบในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

          ด้านการศึกษา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้ส่งเสริมการรู้หนังสือหนังสือ โดยเป็นผู้นิพนธ์หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุดแบบเรียนหลวง 6 เล่ม เช่น การประมวลคำที่ใช้ในมาตรา แม่ กน กก กด กบ /อักษรนำ /การใช้ตัวการันต์ แบบเรียนหลวงชุดนี้มีความสำคัญในประวัติการศึกษาของชาติมาก เพราะเป็นแบบเรียนหลวงชุดแรกที่ใช้เป็นแบบหัดอ่านเบื้องต้นของนักเรียน และยังนิพนธ์หนังสือเสริมอื่น ๆ อีก 12 เล่ม สำหรับการส่งเสริมการรู้หนังสือ การอธิบายศัพท์ต่าง ๆ ศัพท์โบราณ เขมร ชวา และราชาศัพท์

          ด้านวัฒนธรรม ได้ประพันธ์คํานมัสการคุณานุคุณ เช่น บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ“องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บมิหม่นมิหมองมัว...” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชุมชนชาวพุทธทั่วไป ในช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนา ครูและนักเรียนสามารถเข้าร่วมการสวดธรรมเป็นภาษาไทย ทำให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาของธรรมะอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนิพนธ์ประเภทวรรณคดี เช่น โคลงประกอบภาพเรื่องรามเกียรติ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และคำฉันท์กล่อมช้าง 8 บท

          2. การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีประสูติ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (100th anniversary of the birth of Her Royal Highness Princess Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra) ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งจะครบรอบในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศในหลายด้าน อาทิ ด้านการศึกษา ทรงส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาสำหรับคนยากจนคนชายขอบและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาบนภูเขาและเกาะที่ห่างไกล ตลอดจนในพื้นที่ชายแดนและชุมชนแออัด ทรงรับองค์กรการกุศลไว้ในพระอุปถัมภ์หลายองค์กร และทรงเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสในหลายมหาวิทยาลัย

          ด้านวิทยาศาสตร์ ได้ทรงให้ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในการสร้างสันติภาพ การขจัดความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทรงเป็นผู้สนับสนุนนโยบายระยะยาวด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อความเป็นเลิศและเพื่อการพัฒนา โดยทรงส่งเสริมทางการเงินเพื่อให้นักเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับโลก

          ด้านวัฒนธรรม ทรงรับสั่งได้หลายภาษา ทำให้ทรงมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรงเป็นนักอ่าน นักเขียน โดยได้แปลและเรียบเรียงหนังสือในหลากหลายประเภท ทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังทรงให้การสนับสนุนวงดนตรีและการแสดงของไทยในท้องถิ่น เช่น คณะหุ่นกระบอกโจหลุยส์ ซึ่งช่วยอนุรักษ์ศิลปะคลาสสิกของการเชิดหุ่นกระบอกเล็กของไทย ทรงจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมดนตรีคลาสสิก ให้การสนับสนุนนักดนตรีไทยในการศึกษาต่อ และส่งเสริมการแข่งขันและคอนเสิร์ตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สนับสนุนวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อุปถัมภ์ของโรงละครโอเปร่ากรุงเทพ รวมทั้ง สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

          การเฉลิมฉลองวาระครบรอบที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับงานขององค์การยูเนสโกของรัฐสมาชิก เป็นโครงการที่สำคัญของยูเนสโก ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกยูเนสโกที่เกิดขึ้นในอดีตที่มีความโดดเด่นสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นแบบอย่างของความมีคุณค่าทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน ช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของประชาชนและ/หรือทำให้เกิดสันติภาพของประเทศหรือของโลก ซึ่งรายการที่ยูเนสโกจะร่วมเฉลิมฉลองจะเผยแพร่ไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก ซึ่งเกณฑ์การร่วมเฉลิมฉลองที่ยูเนสโกได้กำหนดไว้ คือ 50 ปี 100 ปี 150 ปี 200 ปี และทุก ๆ 50 ปี

สรุปและเรียบเรียงโดย : โกมุที ยมลนันทน์
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 พฤศจิกายน 2564